botulinum toxin ในฐานะอาวุธชีวภาพ ของ ชีวพิษโบทูลินัม

การก่อการร้ายทางชีวภาพ (bioterrorism) เป็นการนำอาวุธชีวภาพหรือเชื้อโรคที่มีอัตราการระบาด และความรุนแรงในการเกิดความเจ็บป่วยถึงชีวิต มาทำให้เกิดการแพร่กระจายและก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมการกระจายให้อยู่ในวงจำกัด หรือขาดแคลนยาที่ใช้ในการรักษาอย่างเพียงพอ ก็จะเกิดมหันตภัยกับมวลมนุษยชาติได้

botulinum neurotoxins ที่ผลิตจากแบคทีเรียสายพันธุ์ Clostridia เป็นเชื้อพิษที่ร้ายแรงที่สุด สามารถประดิษฐ์เป็นอาวุธได้ง่ายและตรวจจับยากเนื่องจากเป็นสารไร้สี ไร้กลิ่น ไร้รส เป็นอาวุธสงครามที่สร้างความตื่นกลัวได้ผลดีแม้เป็นเพียงข่าวลือว่าถูกนำมาใช้เป็นอาวุธต่อสู้ (มีผลทางจิตวิทยา) แนวโน้มรูปแบบที่จะถูกนำมาใช้คือปล่อยละอองในอากาศให้สูดดมเข้าไปในร่างกายหรือใส่สปอร์พิษปนเปื้อนในอาหาร มีความพยายามพัฒนามาใช้เป็นอาวุธชีวภาพตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว หลังปี 2005 ก็มีการคำนวณถึงความเสียหายต่อชีวิตหากผู้ก่อการร้ายนำสารนี้มาใช้อยู่หลายเหตุการณ์ด้วยกัน เช่น สมมุติการปนเปื้อนในอาหารตามภัตตาคาร ใส่สายพานลำเลียงนมวัวสำหรับส่งออกต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตอย่างมหาศาล เหตุเพราะ botulinum toxin หนึ่งหน่วยสามารถแพร่กระจายในอากาศทำให้คนที่อยู่ใต้ลมเป็นรัศมีครึ่งไมล์กลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสียชีวิตได้

เหตุผลหลักที่หลายประเทศนำ botulinum neurotoxins มาใช้เป็นอาวุธชีวภาพใช้ปริมาณสารพิษน้อย ไร้สี ไร้กลิ่น ไร้รสชาติ ทำให้ตรวจจับได้ยาก ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บร้ายแรงและถึงแก่ชีวิต ผลิตง่ายและเคลื่อนย้ายสะดวก ผู้บาดเจ็บจากพิษต้องการการรักษาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องยาวนานประวัติการพัฒนาเป็นอาวุธชีวภาพมาใช้ในการก่อการร้ายสากล

ประเทศที่ต้องสงสัยว่าผลิต พัฒนา และครอบครองได้แก่แคนาดา อิรัก อิหร่าน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซีเรีย อเมริกาใต้ เกาหลีเหนือ และฝรั่งเศส อิรักเป็นประเทศที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือมากที่สุดว่ามีโครงการผลิตอาวุธชีวภาพหลายประเภทที่กำลังดำเนินการอยู่

การใช้อาวุธชีวภาพ botulinum toxin ในประเทศต่างๆ

อิรัก

อิรัก - อิรักเริ่มพัฒนาโครงการอาวุธชีวภาพอีกครั้งในปี 1985 หลังจากที่เคยลงนามการหยุดครอบครองอาวุธชีวภาพปี 1975 แล้วก็ยอมรับกับองค์การสหประชาชาติในอีกสิบปีต่อมาว่าได้ผลิต botulinum neurotoxin เพื่อใช้กับระเบิดพิสัยไกล 600 กิโลเมตร จรวดมิสไซส์ (ในจำนวนนั้น 2 ลูกประกอบจากเชื้อแอนแทรกซ์ 10 ลูกประกอบจาก Alfa toxin และ 13 ลูกประกอบจาก botulinum toxin) และถังสเปรย์เป็นจำนวนมากกว่า 19,000 ลิตร ในจำนวนนั้นมากกว่า 10,000 ลิตรถูกผลิตเป็นอาวุธสงคราม ปริมาณนั้นสามารถฆ่าคนได้กว่าสามเท่าตัวของจำนวนประชากรมนุษย์ทั้งหมดบนโลก นอกจากนี้ยังมีระเบิดอีก 180 กิโลกรัมสำหรับใช้ได้ทันที ในจำนวนนี้ 100 กิโลกรัมบรรจุด้วย botulinum toxin อย่างไรก็ตามอิรักก็ไม่ได้ใช้อาวุธสงครามที่ผลิตขึ้นได้นี้ในสงครามอ่าวเปอร์เซียหรือในเหตุการณ์ความพยายามปลดปล่อยอิรักและคาดว่าปัจจุบันคลังอาวุธคงถูกทำลายไปแล้ว

อิรักยังคงผลิตขีปนาวุธมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่เชี่ยวชาญทางเคมีมาก อิรักยอมรับว่าได้ทำวิจัยเรื่องการใช้ botulinum toxins เพื่อการสงคราม และได้ทำกระสุนมากกว่า 100 นัดที่บรรจุสารพิษนี้ไว้ตั้งแต่ปีค.ศ.1995

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น - ขณะที่ญี่ปุ่นเข้าครอบครองแมนจูเรียในปีค.ศ.1930 กองกำลังของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Unit 731 ได้ทดลองใช้ Clostridium botulinum และสารชีวภาพหลายอย่างกับนักโทษชาวแมนจูในโครงการศึกษาและพัฒนาอาวุธชีวภาพของญี่ปุ่นขณะนั้น

ลัทธิโอมชินริเกียวซึ่งถือกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นในปีค.ศ.1987 ก็มีประวัติการใช้อาวุธชีวภาพมากมายเพื่อก่อการร้าย หนึ่งในอาวุธชีวภาพที่พยายามผลิตและนำมาใช้คือสาร botulinum neurotoxin ระบบความเชื่อของลัทธินี้มีรากฐานจากเรื่องราวลึกลับและคำสอนด้านปรัชญาเกี่ยวกับการทำลายล้างเพื่อความอยู่รอด การสิ้นสุดของโลก และสงครามโลกครั้งที่สาม บรรดาสาวกถูกกระตุ้นให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของประเทศ โชโก อะซาฮาระ ผู้ก่อตั้งเคยเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยมาก่อนจึงมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากหลายมหาวิทยาลัยมีชื่อหลายคนที่เชื่อในลัทธินี้ ลิทธิโอมชินริเกียวจึงมีนักวิทยาศาสตร์กว่าสามร้อยคนที่เชี่ยวชาญเรื่องเคมี ชีววิทยา ยา และพันธุวิศวกรรมที่ทำงานให้กับลัทธิโดยมีเงินทุนกว่าหมื่นล้านดอลล่าสหรัฐจากการบริจากของสมาชิกและการขายหนังสือ ต่อมาภายหลังสาวกของลัทธิแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบ โชโก อะซาฮาระที่โกรธแค้นก็กล่าวหาว่ารัฐบาลโกงและเริ่มก่อเหตุสังหารหมู่นับแต่นั้น

สาวกของลัทธินี้ใช้อาวุธชีวภาพหลายชนิดก่อการร้ายหลายครั้งท่ามกลางฝูงชน ที่ก่อความเสียหายมากที่สุดคือการปล่อยของเหลวที่เรียกว่าซารินในรถไปใต้ดินโตเกียว 5 ขบวนในช่วงเวลาเร่งรีบในปี 1995 มีคนเสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บอีกมากกว่า 5,000 คนในเหตุการณ์นั้น ภายหลังตำรวจพบว่าลัทธิสามารถผลิตซารินในจำนวนที่สามารถฆ่าได้หลายล้านคน ก่อนหน้านี้ลัทธินี้ได้วางกระเป๋าเดินทางสามใบที่อ้างว่าบรรจุสาร botulinum neurotoxin ไว้ในทางเดินใต้ดินแต่ก็ถูกตำรวจพบก่อน และยังมีความพยายามใช้ botulinum neurotoxin แบบละอองกระจายในอากาศเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองตามมาอีกสองครั้งในช่วงปี 1990-1995 เป้าหมายคือฐานทัพทหารสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น แต่ความพยายามไม่เป็นผลสำเร็จเพราะความผิดพลาดทางเทคนิคจุลชีววิทยา โดยผลิตแบคทีเรีย Clostridium botulinum จากดินจากภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น

อื่นๆ

  • อเมริกาใต้ - โครงการชายฝั่งทะเล (Project Coast) ซึ่งเป็นโครงการศึกษาอาวุธชีวภาพของอเมริกาใต้ได้พัฒนาความเป็นไปได้ของการนำ botulinum toxin มาใช้ภายใต้การควบคุมของพันเอกโวลเตอร์ เบดส์สัน แม้โครงการจะสิ้นสุดไปแล้วแต่มีการสันนิษฐานว่าข้อมูลการผลิตอาวุธและเทคโนโลยีที่ใช้ถูกขายให้กับประเทศอื่นไปสานต่อเช่น ลิเบีย
  • อเมริกา - นักวิจัยชาวอเมริกาเริ่มพัฒนา botulinum toxin มาใช้เป็นอาวุธตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเนื่องจากเยอรมนีนำ botulinum toxin มาใช้ในสงคราม อเมริกาจึงต้องผลิตวัคซีน botulinum กว่า 1 ล้านโดส เผื่อใช้ในวันดีเดย์ที่ทหารอเมริกาต้องขึ้นฝั่งเยอรมนี
  • แคนาดา - เคยมีการจับกุมชายผู้หนึ่งได้ขณะกำลังข้ามด่านตรวจเขตแดนแคนาดาและอเมริกา เขาครอบครอง botulinum toxin จำนวนหนึ่ง ไรซิน กระสุนปืน 20,000 นัดรวมทั้งเงินสด 89,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เขาแขวนคอตัวเองในคุกหนีความผิดขณะรอการไต่สวนจึงไม่ทราบสาเหตุของการกระทำ
  • อังกฤษ - ฤดูใบไม้ผลิปี 1942 มีข้อสันนิษฐานว่าการลอบสังหาร Reinhard Heydrich เจ้าหน้าที่ผู้โหดเหี้ยมคนหนึ่งของพรรคนาซีที่กรุงปราก ประเทศอิตาลี โดยทหารอังกฤษที่ถูกฝึกพิเศษนั้นอาจมีการใช้ระเบิดบรรจุ botulinum toxin ร่วมด้วย
  • เยอรมนี - หน่วยสืบราชการลับของฝ่ายพันธมิตรรายงานว่าเยอรมนีพยายามพัฒนา botulinum toxin มาใช้ในสนามรบเพื่อต่อต้านการข่มขู่จากฝ่ายพันธมิตร แต่ในเวลานั้นส่วนประกอบที่ทำให้ C. botulinum เป็นพิษนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ดังนั้นการวิจัยในช่วงแรกจึงเป็นเพียงการแยกสารให้ได้พิษที่บริสุทธิ์และการเพิ่มจำนวนสารพิษ แต่ก็ยังมีการวิจัยความเป็นไปได้ของการทำเป็นอาวุธชีวภาพด้วย (อเมริกาใช้รหัสลับเรียกสาร botulinum neurotoxin ว่า “agent X”)
  • รัสเซีย (สหภาพโซเวียต) - มีรายงานว่าสหภาพโซเวียตทดลองอาวุธบรรจุ botulinum บนเกาะVorozhdeniye ในทะเลอารัล และยังใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมพยามยามตัดต่อสารพิษไปใส่ในแบคทีเรียชนิดอื่นอีกด้วย หลังโซเวียตล่มสลายก็มีรายงานตามมาว่า 4 ประเทศที่อเมริกากำหนดเป็นประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้ายได้แก่ เกาหลีเหนือ อิรัก อิหร่าน และซีเรียได้พัฒนา (หรือเชื่อกันว่าได้พัฒนา) botulinum toxin ขึ้นอีกในด้านความเป็นไปได้ในการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ

การควบคุม

มีระเบียบระดับนานาชาติ เพื่อป้องกันการนำอาวุธชีวภาพมาใช้ ได้แก่ พิธีสารเจนีวา พ.ศ. 2478 ซึ่งมีสาระสำคัญในการห้ามใช้อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ หรืออนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพซึ่งห้ามการพัฒนา สะสม และผลิตอาวุธชีวภาพ การตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพในปัจจุบันไม่จำกัดเพียงในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น แต่ยังได้ขยายไปยังกลุ่มประชาคมวิจัยด้วย โดยมีความพยายามในการป้องกันมิให้ผู้ประสงค์ร้ายมีโอกาสเข้าถึงเชื้อโรคที่มีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ซึ่งปกติประชาคมวิจัยจะใช้ในการวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ผ่านการปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ ของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) และความมั่นคงทางชีวภาพ (Biosecurity) เป็นมาตรการหลักในการป้องกัน

สหประชาติชาติได้กำหนด อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวะ (Biological and Toxins Weapons Convention : BWC) ชื่อเต็ม “Convention on the Prohibition of the Development, Production and Stockpiling of Bacteriological (Biological) and Toxin Weapons and on their Destruction” ชื่อไทยว่า “อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามการพัฒนา, การผลิต, และการสะสมอาวุธชีวภาพ และ ท็อกซิน และการทำลายอาวุธดังกล่าว” มีสาระสำคัญห้ามรัฐภาคีพัฒนา ผลิต สะสมอาวุธชีวะ และต้องทำลายอาวุธชีวะในครอบครองด้วย โดยอนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2518 (ค.ศ. 1975) และไม่ได้ระบุระยะเวลาสิ้นสุด

แต่แม้สหภาพโซเวียตและอิรักจะลงนามในข้อตกลงนี้ด้วยแต่ก็ยังมีการขยายการผลิตอาวุธชีวภาพซึ่งประกอบด้วยการวิจัย botulinum neurotoxin และการผลิตอาวุธสงครามอยู่อย่างลับๆ เพราะ BWC ขาดประสิทธิภาพที่แท้จริงในการบังคับใช้เนื่องจากไม่มีระบบตรวจสอบพิสูจน์ยืนยันระหว่างประเทศที่เป็นกลางและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้ละเมิดอนุสัญญาฯ ดังนั้น จึงมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc Group: AHG) ของรัฐภาคี BWC ขึ้นเมื่อปี 2538 (ค.ศ. 1995) เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการพิสูจน์ยืนยัน (verification mechanism) การปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อนุสัญญาฯ ในลักษณะเป็นพิธีสาร (protocol) แนบท้ายอนุสัญญา BWC, AHG ของ BWC ได้จัดประชุมอย่างต่อเนื่อง (รวม 24 ครั้งแล้ว) เพื่อจัดทำร่างพิธีสาร แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากความเห็นและท่าทีของประเทศต่างๆ ยังไม่อาจตกลงกันได้โดยเฉพาะในเรื่องของการเยี่ยมเยือน (visit) และการตรวจสอบ (inspection)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธชีวภาพถือเป็นเพียงกลไกเดียวในการควบคุมการพัฒนา ใช้ โอน ผลิตและสะสม และทำลายอาวุธชีวภาพ แต่เนื่องจาก ยังไม่มีมาตรการพิสูจน์ยืนยัน จึงทำให้อนุสัญญาฯ ไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้

ทางด้านอเมริกาซึ่งไม่ลงนามในอนุสัญญา เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นในเรื่องการตรวจสอบนั้นกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ที่อาศัยเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งกระทำอย่างบริสุทธิ์ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงขอถอนตัวจากการเจรจาเพื่อจัดทำร่างพิธีสารฯ แต่ประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐอเมริกาก็ยังมีคำสั่งให้ทำลายคลังอาวุธชีวภาพทั้งหมดของหน่วยพัฒนาขีปนาวุธแห่งสหรัฐเมื่อปีค.ศ.1969-1970

ใกล้เคียง

ชีวพิษโบทูลินัม ชีววิทยา ชีวิตไม่ต้องเด่น ขอแค่เป็นเทพในเงา ชีวิตไม่ง่ายของนางร้าย LV99 -ฉันคือบอสลับค่ะ ไม่ใช่จอมมาร- ชีววิทยาของความซึมเศร้า ชีวิตเพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ ชีวิตลูปที่ 7 ของนางร้าย ขอเป็นเจ้าสาวนอนกลิ้งสบายในแดนอดีตศัตรู ชีวิตใหม่ หัวใจไม่ลืมรัก ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ ชีวิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชีวพิษโบทูลินัม http://www.inspection.gc.ca/english/fssa/concen/ca... http://www.iagram.com/diagrams/botox.html http://www.newsweek.com/id/131749 http://microbewiki.kenyon.edu/index.php/Clostridiu... http://www.cdc.gov/botulism/botulism_faq.htm http://www.fda.gov/fdac/features/095_bot.html http://botdb.abcc.ncifcrf.gov http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC313034... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15907915 http://www.who.int/csr/delibepidemics/clostridiumb...